Gerund คือคำกริยา(verb) ที่เติม ing (V-ing) เป็นกริยาไม่แท้ใช้ทำหน้าที่เป็นคำนาม การใช้ Gerund สามารถใช้ทำหน้าที่เป็นได้ทั้งประธาน(Subject) กรรม(Object) และ ส่วนเสริม(Complement)ของประโยค คือเราสามารถใช้ Gerund วางไว้ได้ทั้งหน้าประโยค กลางประโยค และท้ายประโยค ตามหน้าที่ของมันนั่นเองค่ะ Gerund ได้ชื่อว่าเป็น กริยานามหรืออาการนาม(Verbal Noun) เนื่องจากตัวมันแม้จะใช้เป็นคำนามแต่มันก็แสดงออกถึงอาการกริยาไปในตัว ทีนี้เรามาลองดูตัวอย่างประโยค Gerund และทำความเข้าใจหลักการใช้ Gerund และหน้าที่ของ Gerund ในประโยคต่างๆ ไปพร้อมกันเลยนะคะ
การใช้ Gerund และตัวอย่างประโยค
Spending money is easier than earning it.
(การใช้เงินนั้นง่ายกว่าการหาเงิน)
ในตัวอย่างประโยคนี้ Gerunds คือ spending (spend เติม ing) กับ earning (earn เติม ing) นั่นเอง
ถ้าจะเปรียบเทียบกับภาษาไทย คำว่า “ใช้จ่าย” กับ “หาเงิน” เป็นคำกริยา เมื่อเราเติมคำว่า “การ” ไว้ข้างหน้าก็จะกลายเป็นคำนามคือ “การใช้จ่าย” ก้บ “การหาเงิน” ไงล่ะคะ
Painting and drawing are the work of an artist.
(การวาดเขียนเป็นงานของศิลปิน)
ในตัวอย่างประโยคนี้ painting กับ drawing เป็น Gerund ทำหน้าที่เป็นประธาน(Subject) ของประโยค
*** เราสามารถใช้ Gerund ทำหน้าที่เป็นประธาน (Subject) ของประโยคได้
Tanggwa enjoys reading.
(แตงกวาสนุกกับการอ่านหนังสือ)
ตัวอย่างประโยคนี้ reading เป็น Gerund ทำหน้าที่เป็นกรรม(Object) ของประโยค โดยประโยคนี้คำว่า enjoy เป็นกริยาที่ต้องมีกรรมมารองรับ
*** เราสามารถใช้ Gerund ทำหน้าที่เป็นกรรม (Object) ของประโยคได้ และมีกลุ่มของกริยาบางตัวที่เมื่อใช้คู่กับกริยาไม่แท้(non-finite verbs) ต้องใช้ในรูป gerund เช่น admit(ยอมรับ), appreciate (ซาบซึ้ง), avoid(หลีกเลี่ยง), begin(เริ่มต้น), compare(เปรียบเทียบ), continue(ต่อเนื่อง), consider(พิจารณา), deny(ปฏิเสธ), dislike(ไม่ชอบ), excuse(แก้ตัว อ้าง), escape(หลบหนี), enjoy(สนุก), finish(เสร็จ), forget(ลืม), hate(เกลียด), intend(ตั้งใจ), keep(ทำบางอย่างต่อไป), like(ชอบ), love(รัก), mind(รังเกียจ), need(จำเป็น), prefer(ชื่นชอบ), quit(หยุด ล้มเลิก), recommend(แนะนำ), start(เริ่ม), stop(หยุด), try(พยายาม), understand(เข้าใจ), urge(กระตุ้น), want(ต้องการ) เป็นต้น
*** ดูเพิ่มเติมเรื่อง
– ตัวอย่างประโยค Gerunds as Subjects and Objects
– Verbs ที่ตามด้วย Gerunds ตัวอย่างประโยคและคำแปล
What I really like is travelling to Perth.
(สิ่งที่ฉันชอบคือเดินทางไปเพิร์ธ)
ประโยคนี้ travelling to Perth เป็น gerund clause ทำหน้าที่เสมือนประธานเสริม(subject complement) ตามหลัง verb to be คือ is
*** เราใช้ gerund clause ทำหน้าที่เสมือนประธานเสริม(subject complement) มักใช้ตามหลัง verb to be
Sutee is good at driving a car.
(สุธีร์ขับรถเก่ง)
ในประโยคนี้ driving เป็น Gerund ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมของบุพบท at
*** เราใช้ Gerund ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมของบุพบท ตามกฎแล้วคำที่ตามหลังคำบุพบท(Prepositions) ต้องเป็นคำนาม แต่ถ้าจะตามด้วยคำกริยาต้องเป็น Gerund (ตรงนี้เพื่อนๆ จำไว้ได้เลยนะคะ)
Pranee is fond of singing
(ปราณีชอบร้องเพลง)
ประโยคนี้ singing เป็น Gerund ที่ใช้ตามหลังคำคุณศัพท์ fond of (ชอบที่จะ)
*** เราใช้ Gerund ตามหลังคำคุณศัพท์บางคำ อย่างเช่นคำว่า fond of (ชอบที่จะ), afraid of (กลัว), proud of (ภูมิใจกับ), interested in (สนใจใน), busy (ยุ่ง) เป็นต้น
ทีนี้อยากให้เพื่อนๆ ลองพิจารณาตัวอย่างประโยคต่อไปนี้ดูนะคะ
We are going to Perth on Friday.
(พวกเรากำลังจะไปเพิร์ธในวันศุกร์นี้)
We are looking forward to going to Perth.
(เรากำลังตั้งตารอที่จะไปเพิร์ธ)
ทั้งสองประโยคข้างบนต่างก็มีกริยาเติม ing คือ going เหมือนกัน แต่อย่าสับสนนะคะ ลองสังเกตให้ดีๆ เห็นมั๊ยคะว่า
– going ในประโยคแรกนั้นไม่ใช่ Gerund นะคะ หากแต่เป็น Present Participle ประกอบประโยค Continuous Tense ไงล่ะคะ เพื่อนๆ ยังจำเรื่อง Continuous Tense กันได้ใช่ไหมคะ
– สำหรับ going ในประโยคหลังนั้นเป็น Gerund ที่ใช้เป็นคำนามตามหลังคำบุพบท(Preposition) นั่นเองคะ
*** look forward to เป็นคำกริยาวลี (Phrasal Verb) ที่ประกอบด้วยคำว่า to ที่เป็นคำบุพบทที่ต้องตามด้วย Gerund เช่นเดียวกับ Phrasal Verbs อีกหลายคำเช่น take to (นำไปยัง), accustomed to (คุ้นเคย, เคยชิน), get around to (ได้ทำ, ทำเสร็จ) และ used to (เคยชิน) ตรงนี้ให้เพื่อนๆ จำไว้เลยนะคะว่า to ในกริยาวลีเหล่านี้เป็นคำบุพบทที่ต้องตามด้วย Gerund เสมอ
– ดูเพิ่มเติมเรื่อง การใช้ to be used to / get used to (something, doing something)
ก็ประมาณนี้นะคะสำหรับหลักการใช้ Gerund และหน้าที่หลักๆ ของ Gerund ยังไงก็ฝากเพื่อนๆ ให้รอบคอบและระวังหากเจอประโยคที่มี v-ing เราจะต้องพิจารณาให้ดีว่ามันเป็น Gerund หรือ present participle หรือ adjective อันที่จริงเพื่อนๆ จะเห็นว่าเรื่องหลักการใช้ Gerund นั้นมันไม่ยากเลย แต่มันยากตรงที่เราต้องจดจำ verbs, phrasal verbs, adjectives, prepositions, และคำต่างๆ ที่ใช้กับ Gerund ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น
– Verbs ที่ตามด้วย Gerunds
– Preposition ที่ตามด้วย Gerund
– การใช้ gerunds ตามหลัง adjectives + prepositions
– การใช้ gerunds ตามหลัง verbs + prepositions
– การใช้ gerunds ตามหลัง verbs + objects
– การใช้ gerunds ตามหลัง go (มักจะใช้พูดถึงกิจกรรมเชิงสันทนาการ เช่น go fishing, go shopping เป็นต้น)
– การใช้ gerunds ตามหลังสำนวน expressions บางตัว
– การใช้ gerunds ที่ให้ความหมายเชิงถูกกระทำ (passive meaning) มักใช้กับคำกริยา need, want, merit, deserve ตัวอย่างเช่น Your hair needs cutting.
*** ดูเพิ่มเติม
– ตัวอย่างประโยค Gerunds as Subjects and Objects
– Verbs ที่ตามด้วย Gerunds ตัวอย่างประโยคและคำแปล
– Preposition ที่ตามด้วย Gerund ตัวอย่างการใช้ Preposition + Gerund
– สำนวนที่ตามด้วย Gerund (V+ing)
– การใช้ go + verb+ing หรือ go + gerund
– ตัวอย่างประโยค Gerund and Infinitive
อย่างที่ได้บอกเอาไว้ว่าการใช้ Gerund มี่เรื่องให้เราต้องจดจำเยอะมากๆ ยิ่งถ้าเอาไปรวมกับเรื่อง infinitive ด้วยแล้วยิ่งต้องจำเยอะเข้าไปอีก แต่ถ้าหากเราได้ดูตัวอย่างประโยค Gerund มากๆ ก็จะช่วยให้เราจดจำได้ดีขึ้น ซึ่งเราคงไม่สามารถรวบรวมมาเขียนไว้ในตอนนี้ตอนเดียวได้ทั้งหมด เอาไว้เราจะพยายามยกตัวอย่างมาเพิ่มเติมให้ได้มากกว่านี้ในตอนต่อๆ ไปละกันนะ ยังไงก็อย่าลืมติดตามกันให้ได้นะคะ แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า ขอบคุณมากที่ติดตามอ่านค่ะ
One thought on “Gerund คืออะไร? การใช้ Gerund และตัวอย่างประโยค”