กริยาไม่แท้ Non-finite Verbs คือ? มีกี่แบบ การใช้ ตัวอย่างประโยค

ตอนนี้เรามาดูต่อเรื่องกริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) คืออะไร มีกี่แบบ กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) แต่ละแบบมีการใช้อย่างไร พร้อมกับดูตัวอย่างประกอบไปด้วยกันเลยนะคะ ตอนที่แล้วเราพูดเรื่องกริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ไปบ้างแล้ว ตอนนี้เรามาเจาะลึกในรายละเอียดประเภทของกริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) และการใช้กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) กันต่อเลยค่ะ

กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) คืออะไร

สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้วสามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่ก่อนเลยนะคะ —> กริยาแท้และกริยาไม่แท้(Finite and Non-finite Verbs)

  • กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) คือคำที่มีรูปมาจากคำกริยาแต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นคำกริยาของประธานในประโยคโดยตรง แต่มันสามารถใช้เป็นคำนาม(Noun), คำคุณศัพท์(Adjective), คำวิเศษณ์/คำกริยาวิเศษณ์(Adverb) หรือส่วนขยาย(Complement) ของประโยคได้
  • กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) จะไม่มีการผันรูปตามจำนวนประธาน(เอกพจน์/พหูพจน์), บุรุษ(person) ที่เป็นประธาน, ตามกาล(tense), passive/active voice หรือ mood ต่างๆ
  • กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ที่ใช้เป็นส่วนขยายในประโยค บางคร้้งเราอาจละเว้นไม่ต้องใส่ไว้ในประโยคก็ได้โดยไม่ทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไป ถ้าเป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันโดยนัยอยู่แล้วว่าพูดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ


ลองดูตัวอย่างประโยคต่อไปนี้นะคะ

Sutee hates working. (Present Simple Tense)
(สุธีร์เกลียดการทำงาน)
My friends hated working. (Past Simple Tense)
(ตอนนั้นเพื่อนๆ ของฉันเกลียดการทำงาน)
สองประโยคข้างบนต่างก็มีกริยาแท้(finite verb) และ กริยาไม่แท้(non-finite verb) ให้สังเกตว่ากริยาแท้คือ “hate” นั้นผันรูปไปตามประธาน(subject) และ ตามกาล(tense) คือ “hate” ผันรูปไปเป็น “hates” และ “hated” ตามลำดับ ซึ่งต่างกับกริยาไม่แท้คือ “working” นั้นไม่มีการผันรูปแม้ว่าประธาน(subject) และ กาล(tense) ของประโยคเปลี่ยนไป

ทีนี้มาดูตัวอย่างสองประโยคต่อไปนี้กัน

We must go shopping now.
(เราต้องไปช้อปปิ้งกันตอนนี้แล้ว)
We must go now.
(เราต้องไปกันตอนนี้แล้ว)
ในประโยคแรกมีกริยาไม่แท้(non-finite verb) คือ “shopping” ในสถาณการณ์นี้ผู้สนทนาต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่าจะไปช้อปปิ้งกัน ดังนั้นถ้าพูดว่า “We must go now.” ประโยคนี้ก็ยังคงมีความหมายว่า “เราต้องไปช้อปปิ้งกันตอนนี้แล้ว” โดยสมบูรณ์แม้ว่าจะไม่มีกริยาไม่แท้(non-finite verb) คือ “shopping” ในประโยคก็ตาม

การใช้กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) มีกี่แบบ อะไรบ้าง

กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) แบ่งออกไปได้เป็น 3 ประเภทคือ

กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ในรูปของ infinitives

  • ปกติแล้วกริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ในรูปของ infinitives จะประกอบด้วย “to + infinitive” (infinitive with to) เช่น to be, to do, to walk, to wait, to come เป็นต้น (บางครั้งเพื่อนๆ อาจจะเห็นในบางตำราเขียนว่า “to + verb” ก็ให้เข้าใจว่า verb ในที่นี้คือกริยาช่องที่ 1 (V1) ที่ไม่ผันรูปนะคะ)
  • infinitive นอกจากจะใช้ในรูปของ infinitive with to แล้ว ยังสามารถใช้ในรูปของ infinitive without to (ไม่ต้องมีคำว่า “to”) ได้ด้วย เช่น be, do, walk, wait, come เป็นต้น นั่นคือ Infinitive without to คือรูปกริยาช่อง 1 ที่ไม่มี to นำหน้าและไม่มีการผันรูปนั่นเอง
  • รูปกริยาที่ใช้สำหรับ infinitive จะเป็นรูปกริยาช่องที่ 1 (V1) ที่ยังไม่ผันรูปไปตาม tense(กาล) และ/หรือ ประธาน(subject) ไม่มีการเติม s หรือ es
  • กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ในรูปของ infinitive ทำหน้าที่เป็นได้ทั้งคำนาม(noun), คำคุณศัพท์(adjective), และคำกริยาวิเศษณ์(adverb)

*** หมายเหตุ เราเคยเห็นบางตำราบอกว่า infinitive ก็คือ กริยาช่องที่ 1 แถมยังบอกด้วยว่า “There are four other forms of the infinititive: the perfect infinitive, the perfect continuous infinitive, the continuous infinitive, & the passive infinitive.” ตรงนี้เราค่อนข้างไม่เห็นด้วยนะเพราะแบบนี้มันน่าจะเป็นรูปแบบของ verb tense มากกว่า ซึ่งปกติแล้ว การใช้ infinitive ไม่น่าจะมีจุดประสงค์ในการบอกกาล(tense) ของการกระทำ(actions) หรือ เหตุการณ์(events) ที่เกิดขึ้น ไม่งั้นเวลาเอามาอธิบายเรื่องแกรมม่า ก็คงจะสับสนกันน่าดู แต่ก็นะ เอาเป็นว่าเรามาให้ความสำคัญในหลักการใช้คำแต่ละคำแล้วก็นำไปใช้สื่อความหมายได้อย่างถูกต้องตามหลักไวยากรณ์น่าจะดีกว่ามาสนใจในเรื่องชื่อของมันมากเกินไป หรือเพื่อนๆ ว่าไงคะ

ดูตัวอย่างประโยคการใช้ infinitive ต่อไปนี้นะคะ

To accomplish such a task is amazing!
(การบรรลุงานเช่นนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์!)
ประโยคนี้ infinitive with to คือ “To accomplish” ใช้เป็นคำนาม(noun) ทำหน้าที่เป็นประธาน(subject) ของประโยค

He loves to drive a car.
(เขารักการขับรถ)
ประโยคนี้ infinitive with to คือ “to drive” ใช้เป็นคำนาม(noun) ทำหน้าที่เป็นกรรม(object) ของกริยาแท้คือ “loves”

This is the book to read.
(นี่คือหนังสือที่จะอ่าน)
ประโยคนี้ infinitive with to คือ “to read” ใช้เป็น คำคุณศัพท์(adjective) ทำหน้าที่ขยายคำนาม(noun) คือ “book”

English is not too hard to study.
(ภาษาอังกฤษไม่ได้ยากเกินกว่าจะเรียน)
ประโยคนี้ infinitive with to คือ “to study” ใช้เป็น กริยาวิเศษณ์(adverb) ทำหน้าที่ขยายคำคุณศัพท์(adjective) คือ “too hard”

I heard her sing at the club.
(ฉันได้ยินเธอร้องเพลงที่สโมสร)
ประโยคนี้เป็นตัวอย่างการใช้ infinitive without to คือ “sing” ที่อยู่หลังกริยาที่แสดงความรับรู้ (Verb of Preception) คือ “heard”

*** ดูเพิ่มเติมเรื่อง การใช้ infinitive แต่ละรูปแบบและตัวอย่างประโยค

กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ในรูปของ participles


Participle คือรูปกริยาที่มีความหมายครึ่งกริยาครึ่งคุณศัพท์ (Verbal Adjective) ตัวอย่างเช่น

Look at the burning candles.
ประโยคนี้ participle คือ “burning” ทำหน้าที่เสมือนกริยา(verb) “burning” และขณะเดียวกันก็เป็นคุณศัพท์(adjective) ใช้อธิบายคำนาม(noun) คือ “candles” ไปพร้อมกัน

รูปแบบของ participle มีด้วยกัน 3 รูปแบบคือ:

  • Present participle ประกอบด้วย verb เติม -ing (verb + ‘-ing’) ตัวอย่างประโยคเช่น Walking across the road, Somchai was hit by a car. (เพราะเดินข้ามถนน สมชายจึงถูกรถชน)
  • Past participle ประกอบด้วย verb เติม -d หรือ -ed (verb + ‘-d’/’-ed’) ตัวอย่างประโยคเช่น Tired, he dropped to the floor. (เพราะเหนื่อยเขาจึงหย่อนตัวลงกับพื้น)
  • Perfect participle ประกอบด้วย having กับ verb เติม -d หรือ -ed หรือ -en (having + ‘-d’/’-ed’/’-en’) ตัวอย่างประโยคเช่น Having eaten her dinner, Tanggwa went to sleep. (หลังการทานอาหารเย็นแตงกวาก็ไปนอน)

สำหรับเรื่องกริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ในรูปของ participles นี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกค่อนข้างเยอะมาก เอาไว้เราจะหาเวลาเรียบเรีบงแล้วเอามาเพิ่มไว้ให้เพื่อนๆ ได้ศึกษาอ่านกันในตอนต่อๆ ไปภายหลังนะคะ

กริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ในรูปของ gerunds

  • Gerunds เป็นกริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ที่มีรูปเหมือน present participle คือเป็นคำกริยา(verb) เติม -ing (verb + ‘-ing’) แต่ Gerunds จะถูกใช้เป็นคำนาม
  • Gerunds สามารถใช้ทำหน้าที่เป็นได้ทั้งประธาน(Subject) กรรม(Object) และ ส่วนเสริม(Complement) ของประโยค (ดูเพิ่มเติมเรือง Gerund คืออะไร? การใช้ Gerund และตัวอย่างประโยค)
  • Gerunds จะมีลักษณะเป็นคำนามที่แสดงออกถึงอาการกริยาไปด้วย(แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกริยา) จึงถูกเรียกว่าเป็น กริยานาม หรือ อาการนาม (Verbal Noun)

ตัวอย่างประโยคเช่น

Drawing and Painting are my hobby.
(การวาดภาพและระบายสีเป็นงานอดิเรกของฉัน)
ตัวอย่างประโยคนี้ “drawing” กับ “painting” เป็น gerunds ใช้เป็นคำนาม(noun) ทำหน้าที่เป็นประธาน(subject) ของประโยค
จะเห็นว่าทั้ง “drawing” กับ “painting” แม้จะถูกใช้เป็นคำนามแต่มันก็แสดงออกถึงอาการกริยาไปในตัว

สำหรับกริยาไม่แท้(Non-finite Verbs) ในรูปของ gerunds ก็เป็นอีกเรื่องที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เยอะมากเช่นกัน เราได้เรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับ gerunds ไว้หลายตอนมาก เพื่อนๆ สามารถตามไปอ่านได้ที่เรื่องนี้เลยนะคะ –> Gerund คืออะไร? การใช้ Gerund และตัวอย่างประโยค

*** ดูเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง การใช้ Gerund and Infinitive ต่างกันอย่างไร

ก็ค่อนข้างครบถ้วนแล้วนะคะสำหรับภาพรวมของเรื่องกริยาแท้(finite verbs) และ กริยาไม่แท้(non-finite verbs) สำหรับรายละเอียดที่ลึกลงกว่านี้ไปเพื่อนๆ สามารถตามเข้าไปอ่านได้ในตอนที่พูดถึงเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะเจาะจงได้เลย เพราะมันเยอะมาก คงเอามาลงไว้ในตอนสองตอนนี้คงจะไม่หมดแน่เลย ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันจนจบนะคะ แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปค่ะ