วันมาฆบูชา
คำว่า “มาฆบูชา” แปลว่า “การบูชาในเดือนมาฆะ” ซึ่งคำว่า “มาฆะ” เป็นชื่อของเดือนที่ ๓ ของอินเดียโบราณ “มาฆบูชา” มีชื่อตามภาษาเดิมว่า มาฆปุณฺณมี แปลว่าในคืนพระจันทร์เต็มดวงในเดือนมาฆะ จะตรงกับ วันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๓ ของทุก ๆ ปี หากปีใดเป็นปีที่มี อธิกมาส หรือที่รู้กันทั่วไปว่าเดือน ๘ สองหนแล้ว จะตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔
ความสำคัญของวันมาฆบูชา
เมื่อถึงดิถีมาฆปุณณมี หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ได้ ๙ เดือน ได้มีเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นเหตุอัศจรรย์ ๔ ประการ เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต คือ
- พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย
- พระภิกษุทุกรูปล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบวชให้
- พระภิกษุที่มาประชุมกันทั้งหมด ล้วนเป็นพระขีณาสพอรหันต์
- วันนั้นเป็นวันพระจันทร์เสวยมาฆะฤกษ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ให้แก่ที่ประชุมพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น
โอวาทปาฏิโมกข์ คืออะไร
โอวาทปาฏิโมกข์ คือหลักคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้แก่พระขีณาสพเหล่านั้น เพื่อให้ใช้เป็นหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ใจความแห่งพระโอวาทปาฏิโมกข์ ประกอบด้วย
- อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา
- หลักการในทางพระพุทธศาสนา
- วิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา
สัพพปาปัสสะ อกรณัง การไม่ทำบาปทุก ๆ อย่าง
กุสลัสสูปะสัมปทา การทำความทุก ๆ สิ่ง
สะจิตตะปริโยทะปะนัง ทำดวงจิตผ่องใสยิ่ง
เอตัง พุทธานะสาสนํ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
หลักการในทางพระพุทธศาสนา
หลักการในทางพระพุทธศาสนา คือ วิธีการที่ใช้ในการฝึกตนเองให้บรรลุสู่เป้าหมายอันสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
วิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
วิธีการในการเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้นพระพุทธองค์ได้ทรงวางแนวทางไว้ ดังนี้
อนูปวาโท เป็นการไม่ว่าร้ายผู้อื่น
อนูปฆาโต เป็นการไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่น
ปาติโมกฺเข จ สํวโร การสำรวมในพระปาฏิโมกข์
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ การรู้จักประมาณในอาหาร
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ การมีที่นอนและที่นั่งอันสงัด
อธิจิตฺเต จ อาโยโค การประกอบความเพียรในอธิจิต
เอตํ พุทฺธานสาสนํ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
แนวทางในการปฏิบัติตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์
สัพพปาปัสสะ อกรณัง การไม่ทำความชั่วทุกอย่าง
การไม่ทำบาปทั้งปวงคือ
- เว้นชั่วทางกาย ๓ อย่าง คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
- เว้นชั่วทางวาจา ๔ อย่าง คือ ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ
- เว้นชั่วทางใจ ๓ อย่าง คือ เว้นจากความโลภอยากได้ เว้นจากความคิดพยาบาทปองร้าย เว้นจากความคิดเห็นผิดเป็นชอบ
กุสลัสสูปะสัมปทา ทำความดีให้ถึงพร้อม เป็นการประพฤติตามหลักของเบญจธรรม
สะจิตตะปริโยทะปะนัง ทำจิตของตนให้ผ่องใส
อนูปวาโท เป็นการไม่ว่าร้ายผู้อื่นให้ตั้งใจไว้ว่า เราจะไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นด้วยวาจา โดยการด่า โดยการเสียดสี โดยการกล่าวตู่ หรือโดยการกล่าวหักราญประโยชน์ของผู้อื่น
อนูปฆาโต เป็นการไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่น ให้ตั้งใจไว้ว่า เราจะไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นด้วยกาย ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความลำบากหรือตาย รวมถึงทำให้ผู้อื่นต้งได้รับทุกขเวทนา
ปาติโมกฺเข จ สํวโร การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ระวังรักษากาย วาจา ตลอดจนจิตใจด้วยการรักษาศีลตามสภาพของตนเอง
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ การรู้จักประมาณในอาหาร รู้จักประมาณในการกิน คือไม่กินให้มากไป หรือกินน้อยเกินไปอันทำให้ร่างกายเดือดร้อน
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ การมีที่นอนและที่นั่งอันสงัด รู้จักการเลือกที่จะอยู่ หรือพักผ่อน ตลอดจนทำงานให้มีสภาพที่เหมาะสมกับการทำงานที่เราตั้งใจ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค การประกอบความเพียรในอธิจิต ทำงานที่รับผิดชอบด้วยความตั้งใจจริง
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
- ทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับ
- ไปวัดเพื่อรักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และเจริญสมาธิภาวนา
- ร่วมเวียนเทียนในเวลาเย็น-ค่ำ ที่วัดใกล้บ้าน
ในการทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ
- ในการเวียนเทียนรอบแรกนั้น จะสวดบทสรรเสริญ พระพุทธคุณ
- ในการเวียนเทียนรอบที่ ๒ จะสวดบทสรรเสริญ พระธรรมคุณ
- ในการเวียนเทียนรอบที่ ๓ จะสวดบทสรรเสริญ พระสังฆคุณ
เมื่อเวียนครบ ๓ รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน จากนั้นในบางวัดอาจจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ เกี่ยวกับเหตุอัศจรรย์ทั้ง ๔ ของวันมาฆบูชา
ลุเพ็ญมาฆมาสน้อม เวียนมา
พุทธศาสนิกพา จิตน้อม
เวียนเทียนเพื่อบูชา องค์ศาส- ดานา
เทียนเปล่งประกายพร้อม จิตน้อมบูชา ฯ
(ช. ประภัสสร ร้อยกรอง)
หามาลงบ้างนะคะ
ตอนนี้การบ้านเยอะมากเลยไม่ค่อยมีเวลาค่ะ ไว้ถ้าว่างแล้วจะหามาลงเพิ่มให้นะคะ