วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการจัดให้เป็นวันพ่อแห่งชาติของประเทศไทย โดยจัดติดต่อกันมาทุกปีนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา โดยการริเริ่มของ คุณหญิงเนื้อพิทย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา ด้วยความจงรักภักดี และเทิดทูนพระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น “พ่อแห่งแผ่นดิน” ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้วัฒนาถาวรสืบไป
นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ของการจัด วันพ่อแห่งชาติ ที่คณะผู้ริเริ่มได้กำหนดไว้ในประการอื่นๆคือ เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม, เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ, เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน และได้แนะนำกิจกรรมสำหรับลูกในวันพ่อ คือ ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ หรือบำเพ็ญกุศล ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศล และระลึกถึงพระคุณของพ่อ ซึ่งยังดำเนินการสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
วันที่ ๕ ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้ เป็น “วันชาติของไทย” อีกด้วย โดยแต่เดิมถือเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็น “วันชาติ” ของไทยมานานถึง ๒๑ ปี ครั้นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ก็ได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย เป็น “วันชาติ” ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระโอรสองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออร์เบินณ์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระองค์ทรงมีพระเชษฐาธิราช (พี่ชาย) และพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ๒ พระองค์คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
๒. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขึ้นครองราชเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ และได้ทรงราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงค์สิกิติ์ กิติยากร (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนารถ) ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร
๓. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมากมายนานับประการเหลือคณา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์แก่ราษฎรทั้งสิ้น ทั่วโลกต่างยอมรับกันว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก เพื่อพสกนิกรชาวไทย
ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคตลอดปี โดยได้เสด็จประทับแรมที่พระตำหนัก ตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อจะได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชน
ทรงหาทางแก้ไขต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่างๆมากมาย เช่น โครงการพัฒนาที่ดินทำกินเพื่อให้ราษฎรมีที่ทำมาหากิน โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ การทำฝนเทียมเพื่อแก้ปัญหาฝนแล้ง การประมง การเลี้ยงสัตว์ การตั้งสหกรณ์ การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำท่วม ไฟไหม้ วาตภัย หรือแม้แต่ภัยจากผู้ก่อการร้าย เป็นต้น
ทรงเสด็จเยี่ยมทหาร ตำรวจและอาสาสมัครในจังหวัดต่าง ๆ ตลอดจนเขตที่มีภัย อันตราย รวมทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บจากการป้องกันประเทศตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
ทรงโปรดให้มีหน่วยแพทย์พระราชทาน เพื่อให้การรักษาพยาบาลราษฎรในชนบท เช่น ตรวจสุขภาพ ปลูกฝี ฉีดยา เป็นต้น
ทรงโปรดให้มีการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาในยามที่ราษฎรได้รับความทุกข์ยากจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ วาตภัย หรือจากผู้ก่อการร้าย
ทรงส่งเสริมการศึกษา โดยได้ทรงพระราชทาน ทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งกองทุน “ภูมิพล” พระราชทานแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดี
ทรงริเริ่มให้จัดทำสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนขึ้น เพื่อให้เด็กแต่ละวัยสามารถค้นคว้าได้ด้วยตนเอง
เสด็จพระราชดำเนินไปพระราช ทานปริญญาบัตรที่จบการศึกษาในมหาลัยต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง
ทรงอุปถัมภ์และบำรุงศาสนาทุกศาสนา ทรงทะนุบำรุงวัดวา อารามต่าง ๆ พร้อมทั้งเสด็จขึ้นบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนาอยู่เสมอ
ทุกครั้งที่ประเทศชาติบ้านเมืองมีปัญหาความวุ่นวายขั้นวิกฤต จนไม่มีฝ่ายใดหาทางออกได้ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้แก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีเสมอ
ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นนับเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีพระราชกรณียกิจ และ โครงการต่างๆอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์แก่ราษฎรทั้งสิ้น
ดังนั้นเพื่อเป็นการความจงรักภักดี และเทิดทูนพระเกียรติคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุก ๆ ปี สถานที่ราชการโรงเรียนและบริษัทต่าง ๆ จะหยุด ๑ วัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กิจกรรมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในทุก ๆ ปี ในทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน บริษัท บ้านเรือน จะมีการประดับธงชาติไทย และธงตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ เพื่อถวายพระพรให้พระองค์ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน และยังมีการทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง ถนน โรงพยาบาล และประดับรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ที่หน้าบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันพ่อแห่งชาติคือ ดอกพุทธรักษาซึ่งมีชื่ออันเป็นมงคล
One thought on “วันพ่อแห่งชาติ”