สวัสดีค่ะเพื่อนเด็ก เพื่อนวัยรุ่นทุกๆ คน ในปัจจุบันนี้เรามักจะได้ยินและได้อ่านเจอคำว่า "สารสนเทศ" ที่ใช้ในวงการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี กันอยู่บ่อยๆ ใช่ไหมคะ แล้วเคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่า จริงๆ แล้วคำว่า "สารสนเทศ" นั้นมีความหมายว่าอย่างไร ค่ะวันนี้รอบรู้ รักเรียนจะชวนเพื่อนๆ มาคุยกันในเรื่องนี้นะคะ
ในภาษาไทย คำว่า "ข้อมูลข่าวสาร " "สารนิเทศ " และ "สารสนเทศ " นั้นมีความหมายเดียวกัน ซึ่งตรงกับคำว่า Information ในภาษาอังกฤษค่ะ โดยที่ความหมายของคำทั้งสามนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2525 ยังไม่ได้เก็บรวบรวมเอาไว้ คงมีแต่ความหมายของ "ข้อมูล " ซึ่งได้ให้คำอธิบายไว้ดังนี้ค่ะ
ข้อมูล น. ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ถือ หรือยอมรับว่าเป็นความจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริง หรือการคำนวณ
สำหรับคำว่า Information นั้น พจนานุกรมเวบสเตอร์ ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า
– an information or being informed; esp., a telling or being told
– news; word
– knowledge acquired in any manner; facts; data
– a person or agency answering questions as a service to others
– any data stored in a computer
อันที่จริงแล้ว ความหมายข้างต้นนั้น ยังไม่ตรงกับความหมายที่ใช้ในวงการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมากเท่าไรนัก แต่อย่างไรก็ตาม เราพอที่จะสรุปคุณลักษณะสำคัญของ สารสนเทศ ที่เรามักใช้กันอยู่เป็นประจำได้ 3 ประการ คือ
– "สารสนเทศ" เป็นข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว
– "สารสนเทศ" มีรูปแบบที่มีประโยชน์นำไปใช้งานได้
– "สารสนเทศ" มีคุณค่าสำหรับใช้ในการดำเนินงาน หรือตัดสินใจ
มาถึงตรงนี้เพื่อนๆ บางคนอาจจะเกิดความสงสัยต่อไปอีกว่าแล้วการประมวลผลข้อมูลนี่มันคืออะไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เรามาดูตัวอย่างการประมวลผลข้อมูลกันนะคะ เช่น
– การจัดเรียง เช่น เรียงชื่อพนักงานจาก ก ไปหา ฮ หรือ การจัดเรียงลำดับคะแนนนักเรียน เป็นต้น
– การหาค่าเฉลี่ย เช่น หาค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบของนักเรียน
– การเปรียบเทียบ เช่น การนำคะแนนเฉลี่ยมาเปรียบเทียบระหว่างระหว่างสองกลุ่ม
– การหาแนวโน้ม เช่น การนำคะแนนรวมของเด็กคนหนึ่ง มาพิจารณาตั้งแต่เรียน จนถึงชั้นปัจจุบัน ว่าพัฒนาการอย่างไร เป็นต้น
ตัวอย่งข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประมวลผลข้อมูลเท่านั้นนะคะ จริงๆ แล้วยังมีอีกมากมายค่ะ การบริหารจัดการข้อมูล การประเมินผลจากข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การจัดหมวดหมู่ข้อมูล การเรียงลำดับข้อมูล และอีก ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นการประมวลผลข้อมูลทั้งนั้นแหละค่ะ
ส่วนคำว่า "ข้อมูล" นั้น ในทางปฏิบัติคือ สิ่งที่ได้จากการสังเกตปรากฎการณ์ การกระทำ หรือลักษณะต่างๆ ของวัตถุ สิ่งของ คน สัตว์ พืช แล้วบันทึกจดเป็นตัวเลข ตัวอักษร รูปภาพ เสียง หรือสัญลักษณ์ต่างๆ บนโลกของเรา ตลอดจนรวมไปถึงนอกโลกของบเราด้วย ดังนั้น เพื่อนๆ จะเห็นได้ว่า "ข้อมูล" นั้นไร้ซึ่งขอบเขตจำกัดจริงๆ
(ดูเรื่อง สังคมสารสนเทศ)
เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับ "ข้อมูล" และ "สารสนเทศ" นั้นมีมากมายไม่เราสามารถบรรยายได้จบสิ้น แต่วันนี้ขอพักเอาไว้แค่นี้ก่อนนะคะ แล้วถ้ามีโอกาสจะนำประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "ข้อมูล" และ "สารสนเทศ" มายคุยกันอีกค่ะ อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคะ สวัสดีค่ะ