ประเพณีลอยกระทง

ลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของไทย ซึ่งใช้กระทงที่ตกแต่งอย่างสวยงามบรรจุธูปเทียนจุดไฟ แล้วนำไปลอยในลำน้ำ ในคืนเดือนเพ็ญกลางเดือน 12

กลางเดือนสิบสองช่วงเดือนพฤศจิกายนในคืนเดือนเพ็ญ บนสายน้ำที่หลากไหลปริ่มตลิ่งทั้งสองฟากฝั่งลำน้ำทั่วไทย แสงเทียนนับร้อยนับพันระยิบระยับตา พากันเคลื่อนตัวไปตามกระแสน้ำภายใต้แสงจันทร์ เป็นภาพที่สวยสดงดงาม น่าจำเริญตาจำเริญใจ ของประเพณีไทยที่มีมามาช้านาน นั่นคือประเพณีลอยกระทง

ลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของไทย ซึ่งใช้กระทงที่ตกแต่งอย่างสวยงามบรรจุธูปเทียนจุดไฟ แล้วนำไปลอยในลำน้ำ ในคืนเดือนเพ็ญกลางเดือน 12 กระทงมีลักษณะเป็นภาชนะที่เย็บประกอบด้วยใบตองยกขอบสูงขึ้นเพื่อให้ลอยน้ำได้ กระทงที่ใช้ลอยใน เทศกาลลอยกระทง จะทำด้วยใบตองเย็บประกอบขึ้นเป็นมุม 6 มุม หรือมากกว่าก็ได้ จากนั้นจึงมอบปากกระทงแล้วเจิมด้วยใบตองพับเป็นมุมแหลมๆสลับกันโดยรอบ นำกาบพลับพลึงหรือใบตองมาเจียนให้เป็นวงกลมเท่าของกระทง ปิดปากกระทงให้เรียบร้อย ใช้เทียนเล่มเล็กเสียบด้วยไม้ก้านธูปปักไว้กลางกระทงมีธูปปัก 4 มุม หรือแล้วแต่จะเห็นงาม เรียกกระทงชนิดนี้ว่าว่ากระทงเจิม นอกจากกระทงเจิมแล้ว ยังมีผู้คนบางส่วนใช้กาบกล้วยมาทำเป็นรูปเรือ บ้างก็ใช้ไม้ระกำมาต่อเป็นแพเล็กๆ บ้างก็ใช้วัสดุอื่นๆที่เหมาะสมแทน แต่ด้วยเหตุที่ใบตองและกาบกล้วย ใช้ประดิษฐ์และตกแต่งให้สวยงามได้ง่าย จึงเป็นที่นิยมมากกว่า

ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าประเพณีลอยกระทงริเริ่มทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าประเพณีลอยกระทงริเริ่มทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี โดยโคมลอยน้ำรูปดอกบัวนี้ถูกประดิษฐ์คิดขึ้นโดยหญิงงาม ธิดาพระศรีมโหสถ นามว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย ได้ดำริที่จะทำกระทงถวายเป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล พระราชพิธีลอยกระทงในครั้งนั้นทำเป็นการใหญ่สนุกสนานมาก พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยในกระทงดอกบัวของนางนพมาศมาก จึงโปรดให้ถือเป็นแบบอย่าง โดยมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในวรรณกรรมชื่อ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งได้กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงเอาไว้ว่า “ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน” ด้วยเหตุนี้โคมลอยน้ำรูปดอกบัวจึงมีปรากฏสืบมาจนทุกวันนี้ แต่ได้ถูกเรียกเปลี่ยนชื่อเป็น “ลอยกระทงประทีป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชา พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม อันเป็นพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา (ปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพัททา แคว้นทักขิณาบถ ประเทศอินเดีย)

แต่นักประวัติศาสตร์ในยุคปัจจุบัน กลับมีความเชื่อว่า ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นเป็นวรรณกรรมที่น่าจะอยู่ในช่วงที่ไม่นานเกินกว่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) ดังนั้นจึงมีความเห็นว่าประเพณีลอยกระทงไม่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อย่างไรก็ตามถึงแม้แนวคิดใหม่นี้จะทำให้เกิดความสับสนสักเพียวไร ก็ไม่สามารถลบล้างประเพณีอันดีงามและทรงคุณค่านี้ไปได้แม้แต่น้อย ไม่ว่าประเพณีลอยกระทงนี้จะเริ่มต้นมีมาแต่เมื่อสมัยใด นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ในทุกวันนี้คนไทยทุกชนชั้นฐานะ ทุกอาชีพก็ยังคงสืบทอดประเพณีลอยกระทงกันอยู่เสมอมา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ ราชทูตแห่งพระเจ้าแผ่นดินลังกาได้เข้ามา ก็ได้ชมพิธีลอยกระทง โดยตามจดหมายราชทูตลังกากล่าวว่า “ก่อนอรุณ มีข้าราชการไทยสองคนลงมาบอกราชทูตานุทูตว่า ในค่ำวันนี้จะมีกระบวนแห่สมเด็จพระราชดำเนินตามชลมารคในการพระราชพิธีฝ่ายศาสนากระบวนเสด็จผ่านที่พักราชทูตมา กระบวนพิธีมรามูตานุทูตได้เห็นมีดังนี้ ตามบรรดาริมน้ำทั้งสองฟากทุกวัด ต่างปักไม้ไผ่ลำยาวขึ้นเป็นเสาโน้มไม้ลงมาผูกเชือกชักโคมต่างๆ ครั้นได้เวลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จโดยกระบวนเรือ พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และเจ้ามหาพระยามหาอุปราช เรือที่เสด็จล้วนปิดทอง มีกันยาดาดสีและผูกม่านในลำเรือปักเชิงทองซองเงิน มีเทียนจุดตลอดลำ มีเรือข้าราชการล้วนแต่งประทีปนำเสด็จด้วยเป็นอันมาก ในการพระราชพิธีนี้ยังมีกระดาษทำเป็นรูปดอกบัวสีแดงบ้าง สีขาวบ้าง มีเทียนจุดอยู่ในนั้นปล่อยลอยตามน้ำลงมาเป็นอันมาก และมีระบำดนตรีเล่นมาในเรือนั้นด้วย”

ต่อมาพิธีนี้นิยมทำกันเป็นการใหญ่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวไว้ว่า “ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ แรมหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้าในและข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมากทำกระทงใหญ่ ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้างเป็น บ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอด 10 ศอก 11 ศอก ทำประกวดประชันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อยคิดในการลงทุนกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่างเบ็ดเสร็จก็ถึง 20 ชั่ง ย่อมกว่า 20 ชั่งบ้าง กระทงนั้น วัน 14 ค่ำ เครื่องเขียว 15 ค่ำ เครื่องขาว วันแรมค่ำหนึ่ง เครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกตามสีกระทง และมีจักรกลไกลต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่จะพรรณาว่ากระทงนั้น ผู้นั้นทำอย่างนั้นๆ คิดดูการประกวดประชันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่างๆ กัน เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย 4 โมง เรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่ตั้งแต่บ่าย 4 โมง เรือเบียดเสียดสับสนกันหลีกไม่ค่อยไหวเป็นอัศจรรย์เรือข้าราชการและราษฏรมาดูกันเต็มไปทั้งแม่น้ำ เวลาค่ำเสด็จพระตำหนักน้ำทรงลอยประทีป”

สันนิษฐานว่าการทำกระทงใหญ่ในลักษณะดังกล่าวนี้ น่าจะมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 3 ครั้งพอมาถึงรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกเสียและโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทำเรือลอยประทีป แทนกระทงใหญ่ถวายองค์ละลำเรียกว่า เรือลอยประทีป ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีก

ประเพณีไทยที่มีมามาช้านาน นั่นคือประเพณีลอยกระทงในปัจจุบันนี้ การลอยประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย ส่วนพิธีการของชาวบ้านก็ยังคงทำกันอยู่เป็นประจำสืบต่อกันมา โดยมีวัตถุประสงค์ต้องตรงกันคือ

  • เพื่อบูชารอยพระบาทที่ประดิษฐ์ ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา อันเป็นการเจริญพุทธานุสติรำลึกถึงคุณค่าพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับที่ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์บูชาพระผู้เป็นเจ้าของเขา
  • เพื่อขอบคุณต่อพระแม่คงคาหรือเทพเจ้าแห่งน้ำ ที่เราใช้อาบ ดื่ม กิน และใช้ประโยชน์อื่นๆ สารพัด และขอขมาที่ได้ลงอาบหรือปล่อยสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ อีกทั้งเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ และสะเดาะเคราะห์ต่างๆ ให้สูญสิ้นไปกับพระแม่คงคา
  • เพื่อสร้างความบันเทิง รื่นเริง และทำการสังสรรค์กันระหว่างผู้ไปร่วมงาน ด้วยว่าเดือน 12 เป็นฤดูกาลที่น้ำเต็มฝั่ง เมื่อถึงวันพระจันทร์ เพ็ญ บรรยากาศจะแลดูงดงามมาก การลอยกระทงยิ่งทำให้เกิดแสงวอมแวมชวนให้ชื่นชมยิ่งขึ้น บางคนก็จะอธิฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาหรือเสี่ยงทายเกี่ยวกับชีวิตของตนเองตามอัธยาศัยไปด้วยในการลอยกระทงนั้น
  • เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์งานช่างฝีมือในการประดิษฐ์กระทงด้วยใบตอง กาบกล้วยหรือวัสดุพื้นบ้านต่างๆ ตลอดจนจัดให้มีการประกวดกระทง อันเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์และงานฝีมือไปด้วย
  • เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือ แหล่งน้ำให้ปราศจากมลภาวะ โดยตักเตือนกันให้มีสำนึก มิให้มักง่ายทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ
  • เพื่อธำรงส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีไทย และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวนำรายได้มาสู่ประเทศชาติไปในขณะเดียวกัน

ประเพณีลอยกระทงนับเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรมซึ่งต้องมีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ประเทศอินเดียอันเป็นแม่แบบของวัฒนธรรมย่านเอเชียอาคเนย์ กล่าวอ้างว่าวัฒนธรรมนี้เริ่มต้นที่ประเทศของเขา เมื่อหลายพันปีก่อนมาแล้ว เริ่มต้นจากความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่ว่า เราควรลอยประทีปลงน้ำในคืนเพ็ญกลางเดือนสิบสอง เพื่อบูชาพระนารายณ์ที่บรรทมอยู่กลางเกษียรสมุทร และพระองค์จะทรงนำบาปเคราะห์ของเราลอยล่องไปกับประทีปอันนั้นด้วย ส่วนบ้านพี่เมืองน้องที่ไม่ไกลจากเรานัก อย่างประเทศลาว ก็มีประเพณีการบูชาลำน้ำด้วยการลอยประทีปและไหลเรือไฟเช่นกัน โดยเชื่อว่าเป็นการบูชาคุณแห่งแม่น้ำโขงที่เลี้ยงดูพวกเขามา และเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จกลับมาจากการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในกัมพูชา ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลบูชาพระจันทร์ เรียกว่าเทศกาล ออก อัมบก (Ok Ambok) ชาวเวียตนามจะทำกระทง ซึ่งเขาเรียกว่าประทีป (pratip)ไปลอยบูชาพระจันทร์ในวันเพ็ญที่ฉายเงาสว่างไสวในลำน้ำ นอกจากนี้ เวียดนาม เกาหลี และญี่ปุ่น ก็มีพิธีกรรมในการขอขมาและลอยทุกข์ลงในน้ำเช่นกัน ว่ากันว่าต้นแบบของความเชื่อนี้มาจากศาสนาพุทธแบบมหายานที่แพร่หลายไปจากประเทศจีน ซึ่งก็มีประเพณีลอยกระทงเช่นกัน พม่าก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ร่วมลอยกระทงไปพร้อมกัน กับเรา นอกจากเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว ชาวพม่ายังลอยกระทงเพื่อบูชาผีนัต (Nut) ซึ่งพวกเขาหมายถึงวิญญาณที่คอยคุ้มครองบรรดาสรรพสิ่งต่างๆอยู่ทั่วไป

วกกลับมาที่ล้านนาเมืองเก่าทางเหนือของประเทศไทย ก็มีประเพณีลอยกระทงเพื่อบูชาแม่น้ำ ที่เรียกว่า ประเพณียี่เป็ง พิเศษตรงที่ล้านนามีประเพณีบูชาด้วยไฟ โดยการจุดโคมลอย เรียกว่า ว่าวฮม หรือ ว่าวควัน โดยเชื่อว่าการปล่อยโคมลอยขึ้นไปบนฟ้าคือการบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นการปล่อยทุกข์โศกให้ลอยไปพร้อมโคมลอย ประเพณีเดือนยี่เพง-ยี่เป็ง แต่เดิมนั้นพิธีสำคัญของเทศกาลนี้อยู่ที่พิธีกรรมตั้งธรรมหลวงหรือฟังเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านจะมีการประดับประดาวัดวาอารามบ้านเรือน ด้วยประทีปโคมไฟ โคมระย้า ทำอุบะดอกไม้ไปถวายวัด ทำซุ้มประตูป่าด้วยต้นกล้วย อ้อยก้านมะพร้าว เตรียมข้าวปลาอาหารเป็นพิเศษ เช่น ห่อนึ่ง แกงอ่อม แกงฮังเล ลาบ และขนมต่าง ๆ ไปทำบุญ บางแห่งมีพิธีกวนข้าวมธุปายาสหรือบ้างเรียก ข้าวพระเจ้าหลวง ถวายเป็นพุทธบูชาในตอนเช้ามืดของวันเพ็ญเดือน ๑๒ นี้ด้วย จากนั้นก็จะมีการทานขันข้าวหรือสำรับอาหารไปถึงบรรพชนคนตาย ถวายอาหารและกัณฑ์เทศน์แด่พระภิกษุสงฆ์ และมีการฟังธรรมมหาชาติตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน บางแห่งก็จะมีการสืบชะตาด้วย จะมีการปล่อยโคมลอย ในช่วงพลบค่ำจะมีการเทศน์ธรรมชื่อ “อานิสงส์ผางประทีส” และชาวบ้านจะมีการจุดประทีสหรือประทีป โคมหูกระต่าย โคมแขวน เป็นพุทธบูชากันทุกครัวเรือนสว่างไสว หนุ่มสาวก็จะมีการเล่นบอกไฟ(ดอกไม้ไฟ) แข่งขันบอกไฟ และปล่อยว่าวไฟ กันอย่างสนุกสนาน